วันที่ 17 มิถุนายน 2563 นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า นำคณะผู้บริหารกรมเจ้าท่า หารือร่วมกับคณะผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประเด็นเกี่ยวกับ ท่าจอดเรือไฟฟ้าและการศึกษาวิจัยพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (ท่าเรือพระราม 7 และท่าเรือพระราม 5) มีการจัดทำ MOU ความร่วมมือด้านวิชาการและพัฒนานวัตกรรม ระหว่างกรมเจ้าท่าและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่ามีแนวคิดการปรับปรุงท่าเรือพระราม 5 เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของรถไฟฟ้าสายสีม่วง และการขนส่งมวลชนกรุงเทพ สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ในหลายเส้นทาง มีพื้นที่ใช้สอยบริเวณท่าเรือ 167 ตารางเมตร และมีอัตลักษณ์รูปแบบทรงกระเบื้องว่าว มีความสวยงาม สื่อถึงสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยระยะเวลาปรับปรุงท่าเรือ 4 เดือน งบประมาณ 4 ล้านบาท และการปรับปรุงท่าเรือสะพานพระราม 7 โดยรูปแบบท่าเรือออกแบบให้สื่อถึงความเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT ให้เป็นมากกว่าท่าเรือ สามารถใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ และรองรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู แผนการดำเนินการปรับปรุงเป็นระยะเวลา 5 เดือน คาดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม งบประมาณ 15 ล้านบาท
ทั้งนี้ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมถึงความร่วมมือในการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือร่วมกันทั้ง 2 ท่า ดังกล่าว ได้ออกแบบในรูปแบบท่าเรือ Smart Pier สวยงามและทันสมัย สอดคล้องกับพื้นที่โดยรอบ ตัวอาคารออกแบบตามแนวคิดการประหยัดพลังงาน มีสิ่งอํานวยความสะดวกในการเดินทาง อาทิ ป้ายแนะนําเส้นทางการเชื่อมต่อรถโดยสาร ขสมก. ทางลาดคนพิการ และห้องน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวก ความปลอดภัย แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในการเดินทางทางน้ำ เป็นการยกระดับท่าเรือให้ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงการขนส่งทุกประเภทให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกของความร่วมมือร่วมกันในการพัฒนาเรือไฟฟ้าและท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) เพื่อยกระดับพัฒนาการขนส่งทางน้ำ เป็นการใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรูปแบบการเดินทางทางน้ำ ในวิถีใหม่ สไตล์ New Normal