เรือหลวงสุโขทัย อับปางกลางทะเล

วันที่ 18 ธันวาคม 2565 เรือหลวงสุโขทัย ประสบเหตุคลื่นลมแรงอับปางกลางทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์  ขณะเดินทางเพื่อร่วมพิธี 100 ปี การสิ้นพระชนม์ของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือหลวงสุโขทัยนั้น ตัวเรือมีอาการเอียงจากคลื่นลมแรง หลังเกิดคลื่นลมแรงและพัดน้ำเข้าเรือเป็นจำนวนมาก จนทำให้เครื่องไฟฟ้าดับและส่งผลให้เครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมเรือได้ และทำให้น้ำเข้าภายในตัวเรืออย่างรวดเร็วจนทำให้เรือเอียงมากขึ้นในเวลาต่อมา ก่อนจะอับปางกลางอ่าวไทย

สำหรับ ร.ล.สุโขทัย เป็นเรือคอร์เวต สร้างโดย TACOMA BOATBUILDING COMPANY ประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อเดิมคือ RTN 252 FT PSMM MK-16#446 เป็น 1 ใน 2 ลำของชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย ร.ล.รัตนโกสินทร์ หมายเลขเรือ 441 และ ร.ล.สุโขทัย หมายเลขเรือ 442 ทั้ง 2 ลำ เป็นเรือที่ได้รับการติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ และระบบอำนวยการรบที่ทันสมัยมีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูง พร้อมปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติในเวลาเดียวกัน คือ ป้องกันภัยทางอากาศ สงครามผิวน้ำ และสงครามปราบเรือดำน้ำ

ภารกิจหลักของ ร.ล.สุโขทัย คือ การปราบเรือดำน้ำ ลาดตระเวนตรวจการณ์ คุ้มกันกระบวนเรือ สนับสนุนการยิงฝั่ง รวมถึงสนับสนุนภารกิจอื่นๆ ของกองทัพเรือ มีขนาดกว้าง 9.6 เมตร ยาว 76.7 เมตร สูง 26.82 เมตร น้ำลึกหัว 3.81 เมตร ท้าย 3.07 เมตร โดมโซนาร์ 4.5 เมตร ภายในเรือ ติดตั้ง ปืน 76/62 มม. 1 กระบอก ปืน 40L70 มม. แท่นคู่ 1 กระบอก ปืน 20 มม. 2 กระบอก นอกจากนั้นยังติดตั้ง ท่อตอร์ปิโด 2 แท่น MK32 MOD5 (6 ท่อยิง) เป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำขณะเดียวกันยังติดตั้ง ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-พื้น แบบ HARPOON BLOCK 1C 2 แท่น (8 ท่อยิง) ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-อากาศ แบบ ALBATROS 1 แท่น (8 ท่อยิง ASPIDE 2000) ระบบตรวจการณ์ยังประกอบด้วย เรดาร์พื้นน้ำ SPERRY VISION MASTER FT เรดาร์พื้นน้ำ FURUNO เรดาร์พื้นน้ำ SCOUT เรดาร์อากาศ DA05 ฯลฯ

สำหรับ “เรือหลวงสุโขทัย” หรือ ร.ล.สุโขทัย เข้าประจำการเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2530 และอับปางจมสู่ท้องทะเล เมื่อวันที่ 18  ธันวาคม 2565 รวมระยะเวลาประจำการ 35 ปี

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 50 ปี

วันที่ 13 ธันวาคม 2565 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 50 ปี โดยนายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการ คณะกรรมการ กนอ. พร้อมด้วย รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผวก.กนอ. ผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน กนอ. ให้การต้อนรับ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในโอกาสเป็นประธานงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา กนอ. ครบรอบ 50 ปี พร้อมทั้งแสดงปาฐกถาพิเศษในงาน โดยมี ผู้เข้าร่วมงานทั้งจาก บริษัทร่วมทุน บริษัทผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม อดีตผู้บริหาร กนอ. พันธมิตรทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน กนอ. “50th Anniversary of IEAT: Industrial Collaboration for Sustainable Development”

ภายในงานมีการแสดงวิดิทัศน์รวบรวมความประทับใจ 50 ปี กนอ. วีดิทัศน์อดีตผู้ว่าการ กนอ. บอกเล่าผลงานและความประทับใจที่มีต่อ กนอ. การแสดงวิสัยทัศน์และทิศทางการดำเนินงานของ กนอ. โดย ผวก.กนอ. และมินิคอนเสิร์ตจาก เพียว เดอะวอยซ์ แชมป์ เดอะวอยซ์ คนล่าสุด  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) Ballroom 1-2  ถ.ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

การประชุมเอเปค 2022

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก จัดขึ้นในประเทศไทย ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2565 และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18–19 พฤศจิกายน 2565 มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 21 เขตเศรษฐกิจ

แนวคิดหลักของการประชุมครั้งนี้คือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ประเทศไทยได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจี เป็นหัวข้อหลักในการประชุมและจัดทำข้อเสนอไปยังผู้นำเขตเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เริ่มด้วยการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ในวันที่ 14–16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และการประชุมรัฐมนตรีเอเปคในวันที่ 17 พฤศจิกายน โดยมีหัวข้อสำคัญคือการผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชีย–แปซิฟิก หรือ FTAAP และแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี ช่วงค่ำวันเดียวกัน รัฐบาลไทยได้จัดงานเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกรับเชิญพิเศษพร้อมคู่สมรส ที่หอประชุมกองทัพเรือ ในงานเลี้ยงรับรอง ได้มีการจัดอาหารค่ำในแนวคิด “ภูมิปัญญาอาหารไทยอย่างยั่งยืน” โดยใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงจากทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานงานเลี้ยงรับรอง เนื่องในวันกองทัพเรือประจำปี 2565

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางมาเป็นประธานในงานเลี้ยงรับรอง เนื่องในวันกองทัพเรือประจำปี 2565 ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ โดยมีพลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือให้การต้อนรับ ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ ประกอบด้วย   ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย

สำหรับความเป็นมาของ วันกองทัพเรือ สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนนายเรืออย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังเดิม ธนบุรี กับได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรือ ความว่า “วันที่ 20 พฤศจิกายน ร.ศ.125 เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบต่อไปในภายน่า” กองทัพเรือ จึงได้ถือเอา วันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันกองทัพเรือ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการก่อตั้งสถาบันหลักของกองทัพเรือ ซึ่งถือเป็นรากฐานของการพัฒนากิจการทหารเรือ ให้มีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

กรมทะเล ร่วมงานฝึกปฏิบัติการ ศรชล. ปกป้องทะเลไทย

วันที่ 2 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา กรมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสำนักงาน ทช.ที่2 (ชลบุรี) และกลุ่มประสานงาน ศรชล. เข้าร่วมชมการฝึกการต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเล และการปราบปรามการลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD)/สินค้าทางทะเลที่ผิดกฎหมายหรือสินค้าต้องห้ามตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ณ บริเวณพื้นที่ท่าเรือจุกเสม็ด จ.ชลบุรี โดยใช้กำลังหลักของ ศรชล.ภาค 1 ดำเนินการฝึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2565 โดยมี พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศรชล. เป็นประธานตรวจเยี่ยมการฝึก พร้อมทั้งผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของหน่วยงานที่เข้าร่วมการฝึกครั้งนี้ โดยมีเรือประกอบด้วย เรือจากกองทัพเรือ (ร.ล.จักรีนฤเบศร,ร.ล.สิมิลัน, ร.ล.ตากใบ) กรมศุลกากร (เรือ ศก.609) กองบังคับการตำรวจน้ำ (เรือ 631)/เฮลิคอปเตอร์จากกองทัพเรือถึง 3 ลำ (S-70B Sea Hawk,Super Lynx 300 ,S-76B/เนวีซีล หรือ ชุดปฏิบัติการพิเศษ จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ พร้อมนำ เรือปฏิบัติการพิเศษแบบใหม่ หรือที่เรียกกันว่า เรือยางท้องแข็งทางยุทธวิธี หรือ Special Operations Craft Rigid Hull Inflatable Boat (SOC RHIB) 2 ลำ / พร้อมด้วยชุดแพทย์ฉุกเฉินจากโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ/ ชุดถอดทำลายอมภัณฑ์ หรือ EOD จากกรมสรรพาวุธทหารเรือ แลชุดตรวจอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง หรือ Weapons of Mass Destruction หรือ WMD จากกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และปรมาณูเพื่อสันติ โดย ร.ล.จักรีนฤเบศร เป็นเรือสำหรับคณะผู้บังคับบัญชาชมการฝึกฯ / เรือหลวงสิมิลัน เป็นเรือสินค้าสมมุติที่ถูกยึดและลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง จึงนับเป็นโอกาสดีที่ท่านจะได้เห็นภาพหนึ่งในการปฏิบัติการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของไทย ที่ไม่สามารถหารับชมได้โดยง่าย และเพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในบทบาทของหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลที่สำคัญของประเทศ

กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ทำบุญ เรือ ต.98 และ เรือ ต.99 ก่อนเรือปลดประจำการ

ตามที่ กองทัพเรือได้เสนอขออนุมัติปลดระวาง เรือ ต.98 เรือ ต.99 ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ได้จัดพิธีทำบุญก่อนเรือจะปลดประจำการขึ้น เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติให้แก่เรือทั้ง 2 ลำ โดย เรือ ต.98 และ เรือ ต.99 เป็นเรือที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร ในการพระราชทานทั้งพระราชดำริ และพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเรือทั้ง 2 ลำ สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ ทำให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถในการต่อเรือเพื่อใช้ปฏิบัติงานภายในน่านน้ำไทย

สำหรับเรือ ต.98 เป็นเรือประเภทเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 7 มีนาคม 2528 ภายหลังจากที่ได้ปฏิบัติราชการเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ รวมระยะเวลาประจำการทั้งสิ้น 37 ปี ระหว่างการประจำการของเรือ ต.98 ได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ เช่น การรักษาอธิปไตยของชาติจากเหตุการณ์การปะทะกับเรือต่างชาติบริเวณพื้นที่ชายแดนของทัพเรือภาคที่ 3

สำหรับ เรือ ต.99 เป็นเรือประเภทเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ขึ้นระวางประจำการ เมื่อ 9 มกราคม 2531 รวมระยะ เวลาประจำการถึงปัจจุบัน 34 ปี ระหว่างการประจำการของ เรือ ต.99 ได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ เช่น การลาดตระเวนรักษาอธิปไตยของชาติ พื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกและพื้นที่ชายแดนฝั่งอันดามัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

Thailand Yacht Show 2022

Thailand Yacht Show 2022

Thailand Yacht Show ครั้งที่ 6 ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้มีการจัดงานขึ้น 2 ครั้งในปีนี้ โดยครั้งที่หนึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9 – 12 มิถุนายน 2565 ณ โอเชี่ยน มาริน่า ยอร์ช คลับ พัทยา ท่าเรือยอช์ทที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยได้รับเกียรติจาก มร. แอนดี้ เทรดเวลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวอร์เวนเทีย จำกัด ผู้จัดงาน พร้อมด้วย นายโมฮาเมด จินาห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย ดาโต๊ะ สตีฟ เชียร์ หัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทยและเวียดนาม นางสาววิภารัตน์ ธาราธีรภาพ ผู้อำนวยการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรือตรีปราโมทย์ ทับทิม ปลัดเมืองพัทยาและรักษาการนายกเมืองพัทยา นายทรงวุฒิ อภิรักษ์ขิต ผู้อำนวยการ สำนักจัดการการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มร. ปิแอร์ จาฟรีย์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนายไพรัช สุขงาม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานพัทยา (ชลบุรี) ร่วมพิธีเปิด ภายในงานสามารถสัมผัสโลกแห่งความหรูหราของเรือยอช์ทล่าสุดอย่างใกล้ชิดและเป็นส่วนตัว มีไฮไลท์มากมายรวมถึงเรือของ Simpson Marine ที่จะมาร่วมจัดแสดงถึง 10 ลำ และเรือยอช์ทจาก Asia Marine ตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ดังของประเทศสวีเดนที่มาร่วมอวดโฉมเรือ Nimbus T11 อีกทั้ง V-Yachts Asia จะจัดแสดงเรือใหม่ล่าสุดอย่าง Ferretti

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทตัวแทนจำหน่ายเรือประเภทอื่น ๆ ที่ต่างพร้อมใจพากันร่วมงาน อาทิ Multihull Solutions, Max Marine Asia ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเรือยอช์ทแบรนด์ Sunseeker และ IAqua Sea Dart พร้อมด้วย Motorium และ Princess Yachts ที่พร้อมโชว์เรือยอช์ท 4 ลำในงานครั้งนี้

งาน Thailand Yacht Show เป็นงานจัดแสดงเรือและเรือยอช์ทระดับแนวหน้าของภูมิภาคเอเชีย และเป็นอีกหนึ่งงานกิจกรรมทางทะเลประจำปีที่จัดขึ้นต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การจัดงานในครั้งนี้นำมาซึ่งความน่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าครั้งไหนเนื่องจากข้อจำกัดในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงระยะเวลากว่า 2 ปี ทำให้มีความจำเป็นต้องงดการจัดงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

บริษัท เอ. แอนด์ มารีน (ไทย) จำกัด ร่วมพิธีเปิดปฏิบัติการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างความปลอดภัยทางทะเล ในเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

พิธีเปิดปฏิบัติการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

วันศุกร์ ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2565 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จัดพิธีเปิดปฏิบัติการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างความปลอดภัยทางทะเล ในเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ณ บริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (MIT) ถนน ไอ-เจ็ด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยองมี รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธี พร้อมพนักงานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แขกผู้มีเกียรติ คณะผู้บริหาร บริษัท เอ. แอนด์ มารีน (ไทย) จำกัด และสื่อมวลชนร่วมงานภายในงานมีการแสดงการเก็บขยะ ล้อมบูมกักคราบน้ำมัน และฉีดน้ำดับเพลิง ด้วยเรือรักษ์นที ซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นใหม่เป็น เรือเก็บขยะ ขจัดคราบน้ำมัน และดับเพลิง ขนาดความยาว 40 ฟุตพร้อมอุปกรณ์ โดย อู่ต่อเรือ บริษัท เอ. แอนด์ มารีน (ไทย) จำกัด ภายใต้โครงการปฏิบัติการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างความปลอดภัยทางทะเล ในเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และเพื่อใช้ในภารกิจด้านอื่นๆ ในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเช่นการดับเพลิงได้อีกด้วย ซึ่งบริษัท เอ. แอนด์ มารีน (ไทย) จำกัด มีความชำนาญงานด้านนี้ ได้รับการว่าจ้างจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้เข้ามาบริหารจัดการเก็บขยะ ขจัดคราบน้ำมันและดับเพลิงสำหรับท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ด้วยบริการที่มีมาตรฐานความปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมภายในเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

เรือรักษ์นทีเป็นเรืออเนกประสงค์ออกแบบให้มีการสับเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ สามารถดับเพลิงได้ โดยใช้หัวฉีดน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งอยู่บนหลังคา เรือเปิดหัวได้เพื่อใช้ในการจัดเก็บขยะ สามารถตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ และสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์และรักษาสภาพแวดล้อมภายในบริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยได้รับความไว้วางใจจาก ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดให้ปฏิบัติภารกิจเป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป

กองทัพเรือจัดกิจกรรมวัน “อาภากร” น้อมรำลึก พระกรุณาคุณ องค์บิดาของทหารเรือไทย ในวาระ 99 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์

กองทัพเรือจัดกิจกรรมวัน “อาภากร”

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 พลเรือเอก  สมประสงค์  นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย เนื่องในวันอาภากร ณ พระอนุสาวรีย์ฯ หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมี นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ราชสกุลอาภากร สมาคมภริยาทหารเรือ ตลอดจนผู้แทนหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร่วมพิธี

ด้วยพระกรณียกิจตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการทหารเรือ ส่งผลให้กองทัพเรือ มีความเจริญก้าวหน้า สามารถทำหน้าที่รั้วของชาติทางทะเลได้อย่างเข้มแข็งสืบต่อมา ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง กองทัพเรือจึงได้ประกาศขนานพระนามเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” และได้กำหนดให้วันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็น “วันอาภากร” โดยกำหนดจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระกรุณาคุณ ของพระองค์ท่านเป็นประจำทุกปี ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ จัดขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระกรุณาคุณ ตลอดจนถวายเป็นพระกุศลแด่ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย ที่ทรงมีพระกรุณาคุณต่อกองทัพเรือเป็นอเนกอนันต์

พิธีเปิดการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทย เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสครบรอบ 56 ปี แห่งการทรงเรือใบข้ามอ่าวไทย

พิธีเปิดการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทย รอบ 56 ปี

วันที่ 19 เมษายน 2565 พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าว ในการแข่งขันเรือใบชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 (Thailand Sailing Championship 2022 ) ณ ชายหาดหน้าโรงแรมรีเจ้นท์ ชะอํา บีช รีสอร์ท อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ในโอกาสครบรอบ 56 ปี ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเรือใบประเภทโอเค ที่ทรงต่อขึ้นเองพระราชทานชื่อเรือว่า “เวคา” เสด็จข้ามอ่าวไทย เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2509 ระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเลจากพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงาม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินโดยลำพังด้วยพระองค์เอง ทรงใช้เวลาในการแล่นใบถึง 17 ชั่วโมงเต็ม และได้ทรงนำธงราชนาวิกโยธิน ที่ทรงนำข้ามอ่าวไทยมาด้วย ปักเหนือยอดก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวนาวิกโยธิน นำมาซึ่งความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งในการต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือเวคา เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกลของประเทศไทย

เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการทรงเรือใบข้ามอ่าวไทย และพระอัจฉริยภาพในการทรงต่อเรือใบ กองทัพเรือ ร่วมกับ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ การกีฬาแห่งประเทศไทย กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และ ปตท.สผ.จึงได้จัดให้มี การจัดการแข่งขันเรือใบชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย (Thailand Sailing Championships 2022) ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 18 ถึง 24 เมษายน 2565 โดยได้รวมการแข่งขันเรือใบชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยในทุกประเภทไว้ในรายการนี้ และที่สำคัญได้จัดให้มีการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทย เส้นทาง หัวหิน – อ่าวเตยงาม ระยะทาง 60 ไมล์ทะเล เป็นการแข่งขันระยะทางไกลในครั้งนี้ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักกีฬาเรือใบจากสโมสรและชมรม เดินทางมาร่วมการแข่งขัน มีเรือใบเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 40 ลำ นักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 112 คนโดยผู้ชนะเลิศการแข่งขันเรือใบทางไกลจะได้ครองรางวัลหางเสือเรือพระที่นั่ง “เวคา” (จำลอง) พร้อมจารึกชื่อเพื่อเป็นเกียรติประวัติบนหางเสือเรือพระที่นั่งเวคา ซึ่งพิธีมอบรางวัลกำหนดจัดขึ้นในช่วงค่ำของวันนี้ ภายหลังพิธีถวายราชสักการะ และการจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ ณ หาดเตยงาม อ่าวนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีฯ